
DeFi คืออะไร?
ถ้าย้อนกลับไปในปี 2013 หลังจาก Bitcoin ได้ถือกำเนิดขึ้นประมาณ 4 ปี มีเด็กหนุ่มลูกครึ่งชาว แคนาดา-รัสเซีย Vitalik Buterin มองเห็นโอกาสว่าระบบบล็อกเชนสามารถนำไปต่อยอดทำคอมพิวเตอร์ของโลกได้ จึงมีการสร้าง Ethereum (ETH) เกิดเป็นเหรียญที่มี Market capitalisation หรือมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมสูงเป็นอันดับ 2 หรือประมาณ $200 Billionในราคาปัจจุบัน ความต้องการให้ ETH เป็นคอมพิวเตอร์ของโลกใบนี้ที่อนุญาตให้นักพัฒนาเข้าร่วมในรูปแบบ Open source (คล้ายๆ Android) ทำให้ทุกอย่างถูกกระจายอำนาจ (decentralized) ระบบเซิร์ฟเวอร์และ cloud จะถูกแทนที่ด้วยระบบที่เรียกว่า node นับพัน ซึ่ง node เหล่านี้จะถูกติดตั้งและเปิดให้ทำงานโดยอาสาสมัครจากทั่วโลก(การขุด Proof of work)
การกำเนิด DeFi
DeFi (Decentralized Finance) กำเนิดจากเหล่านักพัฒนาโปรแกรมที่มารวมตัวกันในปี 2018 จัดตั้งกลุ่ม Defi Network และเห็นโอกาสจากระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่สามารถทำงานบน Open source อย่าง ETH ได้ ในงานมีนักพัฒนาจากโปรเจคต่างๆมาร่วมพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของแพลตฟอร์มทางการเงินที่ไม่ต้องการตัวกลาง ซึ่งประกอบด้วยโปรเจคมากมาย เช่น MarketDao Uniswap เป็นต้น
ความน่าสนใจของ DeFi
อย่างที่ทราบดีว่าในโลกการเงินปัจจุบัน มีทั้งระบบการกู้ยืม ปล่อยกู้ แลกเปลี่ยน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่ง Bitcoin สามารถตอบโจทย์ในแง่ของการแลกเปลี่ยนเท่านั้น จึงมีกลุ่มคนที่คิดว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนอาจกลายเป็นระบบที่สามารถเข้ามาทำงานแทนระบบธนาคารได้ โดยลดความยุ่งยากทั้งการยื่นเอกสาร และระยะเวลาในรอการอนุมัติจากธนาคารซึ่งใช้เวลาหลายวัน เกิดการเขียนโค้ด Smart contract ขึ้นมาทำหน้าที่เหมือนธนาคาร กล่าวคือ มีผู้ฝาก หรือผู้เสริมสภาพคล่อง (Liquidity provider) ฝากเงินเข้าไปเพื่อรับผลตอบแทนจากคนที่มายืม (Borrower) หรือมาทำธุรกรรม (Swap) ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ต้องใช้คนกลาง แต่เกิดจากการทำโดยโปรแกรมหรือ AMM (Automated Market Maker) ช่วยลดความผิดพลาดและความยุ่งยากในการดำเนินการ อีกทั้งยังมีผลตอบแทนที่สูงกว่า เนื่องจากธนาคารต้องมีการจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่และอื่นๆ แต่ Defi สามารถดำเนินการได้โดยใช้เพียงโค้ด Smart contract ที่ไม่สามารถแก้ไขได้และยังถูกตรวจสอบได้เพียงแค่ผู้ใช้งานมีอินเตอร์เน็ต
เดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา Binance ได้ทำการเปิดตัว Binance Smart Chain ( BSC ) เป็นเครือข่ายที่มีการนำ Smart Contract เข้ามาใช้งานเช่นเดียวกับเครือข่ายของ Ethereum (ซึ่งประสบปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมสูงและการทำธุรกรรมที่ล่าช้า) ส่งผลให้นักพัฒนาแพลตฟอร์มหันมาใช้ Binance Smart Chain ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ (DeFi) หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันบนเครือข่าย Blockchain (DApps) มากขึ้นจนล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีการทำธุรกรรมบน BSC แซงหน้า Etheream ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ความเสี่ยงของ Decentralised Finance (DeFi)
-
ความเสี่ยงจากแพลตฟอร์มของ Ethereum ซึ่งปัจจุบันมีการทำธุรกรรมจำนวนมากทำให้เกิดความล่าช้า ปัญหาธุรกรรมค้างทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบสินทรัพย์หรือทำธุรกรรมได้ (ในปัจจุบันโปรเจค DeFi เริ่มหันมาใช้งานทางฝั่ง BSC มากขึ้น)
-
แพลตฟอร์มอาจถูกผู้ไม่หวังดี Hack ข้อมูล ทำการขโมยเหรียญที่เสริมสภาพคล่องไว้ในโปรโตคอล
-
การทำธุรกรรมใน DeFi มีความยุ่งยากพอสมควรอาจทำให้ผู้ใช้งานมือใหม่สับสน ทำผิดขั้นตอน ทำให้สูญเสียสินทรัพย์ได้
การลงทุนในโปรเจค DeFi ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ผู้ใช้งานก็ควรพิจารณาความเสี่ยงที่กล่าวมา อาจจะมอง DeFi ที่ผ่านการ Audited จากบริษัทที่น่าเชื่อถือเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน
แหล่งที่มา/ต้นฉบับ :
แสดงความคิดเห็น